#engineeringnews

บทความโดย interestingengineering เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564

“ทวีปที่ 8” สถานีลอยน้ำที่ช่วยกำจัดขยะในมหาสมุทรอย่างยั่งยืน

 

Lenka Petráková เป็นผู้คิดค้นผลงานการออกแบบอันน่าประทับใจ ที่เรียกว่า “ทวีปที่ 8” เป็นสถานีลอยน้ำที่นำเสนอ เพื่อแก้ปัญหาขยะในมหาสมุทร ด้วยการรวบรวมเศษขยะในมหาสมุทรแล้วแยกย่อยเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ จนได้รับรางวัล 2020 Grand Prix จากมูลนิธิ Jacques Rougerie ด้านสถาปัตยกรรมและนวัตกรรม

 

ด้วยการออกแบบโครงสร้างให้ลอยตัวในมหาสมุทรแปซิฟิก อันประกอบด้วย 5 องค์ประกอบหลัก ดังนี้

1. แผงกั้น: สำหรับรวบรวมของเสียจากมหาสมุทรและสะสมพลังงานจากน้ำขึ้นน้ำลง

2. ห้องกักเก็บขยะ: สำหรับจัดประเภทขยะย่อยสลายทางชีวภาพและการจัดเก็บของเสีย

3. ศูนย์วิจัยและค้นคว้า: เป็นสถานที่สำหรับศึกษาและแสดงผลกระทบที่มีต่อมหาสมุทร

4. เรือนกระจก: สำหรับเพาะปลูกและกรองน้ำทะเลให้เป็นน้ำจืด

5. พื้นที่พักอาศัย

 

ทวีปที่ 8 นี้จะเปลี่ยนแปลงไปตามตำแหน่ง สภาพแวดล้อมภายใน และการเคลื่อนไหวของมหาสมุทร โดยรูปแบบทั้งหมดเป็นแบบพึ่งพาตนเองด้วยพลังงานจากคลื่น และแสงอาทิตย์จากแผงโซลาร์เซลล์เหนือเรือนกระจก

 

Petráková เปิดเผยว่า เธอได้รับแรงบันดาลใจมาจากสิ่งมีชีวิตในทะเลที่ดำรงชีวิตด้วยตนเองอย่างยั่งยืน ดังนั้น ทวีปลอยน้ำแห่งที่ 8 ก็มีความยั่งยืนในตัวเองเช่นกัน นอกเหนือจากความมหัศจรรย์ของสถาปัตยกรรมและการออกแบบแล้ว เห็นได้ชัดว่าตัวขับเคลื่อนหลักของแนวคิดคือ สภาพแวดล้อม โดยเธอได้กล่าวอีกว่า “ฉันรู้ดีว่ามหาสมุทรกำลังถูกทำลาย สิ่งมีชีวิตหลายสายพันธุ์ต้องสูญพันธุ์ เช่นเดียวกับการเกิดมลพิษจำนวนมากที่มนุษย์อาจไม่เคยเห็นและรับรู้ถึงผลกระทบจากการกระทำของตนเองมาก่อน”

 

ขณะที่ สหภาพระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ ( International Union for Conservation of Nature) หรือ IUCN เล็งเห็นว่าปริมาณพลาสติกในมหาสมุทรอย่างน้อยๆ ก็สูงถึง 8 ล้านตัน ดังนั้น สถานีลอยน้ำหรือทวีปที่ 8 ร่วมกับนวัตกรรมอื่นๆ จะช่วยสร้างความตระหนักรู้ และสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้

 

Link: https://interestingengineering.com/self-sustainable…